fbpx

SIAMWELL FineJewelry

การทำความสะอาดและดูแลเครื่องประดับ (Care & Cleaning)

ร้านจิวเวลรี่หรือร้านเครื่องประดับหลายร้านมีบริการทำความสะอาดเครื่องประดับให้ลูกค้า หากลูกค้าต้องการทำความสะอาดเองวิธีง่ายๆนั่นคือ การใช้แปรงสีฟันชนิดปลายนิ่ม และน้ำอุ่นผสมสบู่โดยค่อยๆใช้แปรงสีฟันถู หรือเคาะอย่างเบามือบนเครื่องประดับแล้วล้างน้ำสะอาดหลังจากทำความสะอาดเสร็จให้ใช้ผ้าขนหนูเช็ดค่อยๆ โดยหลีกเลี่ยงผ้าชนิดใยสำลี เนื่องจากใยผ้าอาจเข้าไปเกี่ยวกับเครื่องประดับได้

ข้อควรระวังสำหรับผู้สวมใส่เครื่องประดับคือ ไม่ควรให้เครื่องประดับโดนหรือสัมผัสกับสารเคมีประเภทผสมคลอรีน (Chlorinated liquid)  เป็นอันขาด เช่น น้ำยาหรือผง ฟอกผ้าขาว (Chlorine bleach) หรือ สารเคมีผสมคลอรีนอื่นๆที่ใช้ในบ้านเรือน เพราะว่าคลอรีนสามารถทำให้ส่วนผสมทองในตัวเรือนนั้นเป็นหลุมหรือผุได้ ผู้ที่ชื่นชอบการว่ายน้ำในสระน้ำที่ผสมน้ำยาคลอรีน ควรถอดเครื่องประดับให้หมดก่อนลงสระ เพื่อป้องกันการสึกหรอของตัวเรือนทอง อันนำไปสู่การหลุดหล่นของอัญมณีได้

Cleaning gold and silver jewelry. Cleaning women jewelry concept.

วิธีดูแลเครื่องประดับ

     • หลีกเลี่ยงการขูดขีด-กระแทกกับของแข็งบริเวณเพชรและพลอย หากจำเป็น ควรถอดเครื่องประดับเสียก่อน เพื่อป้องกันการเกิดริ้วรอยบริเวณเพชรและพลอย และ เพื่อป้องกันการเบี้ยวบิ่นของตัวเรือนโลหะ 

     • เก็บรักษาในกล่องเก็บเครื่องประดับแบบกล่องรวมหรือกล่องแยก โดยก่อนเก็บควรใช้ทิชชู่อ่อนนุ่มหรือกระดาษแก้วห่อม้วนก่อนเก็บ ในกรณีที่เป็นสร้อยมือ-คอ ควรตรวจเช็คบริเวณทุกข้อต่อให้อยู่ในสภาพถูกต้องก่อนเก็บ 

     • ตรวจเช็คการสวมใส่ให้พอดีกับร่างกาย เป็นต้นว่า แหวนต้องไม่คับหรือหลวมเกินพอดี หากคับหรือหลวม ควรนำส่งแหวนปรับขยายหรือลดขนาดให้พอดีกับนิ้วที่สวมใส่, ตรวจเช็คตัวล็อคของสร้อยมือ-คอว่าอยู่ในสภาพดี และ ตรวจเช็คว่าได้ล็อคตัวล็อคอย่างถูกต้องทุกครั้งเมื่อสวมใส่ ไม่ให้หลุดและหลวมเกินไป, ตรวจสภาพเข็มต่างหูแป้นว่าเข็มสบพอดีกับตัวล็อคบริเวณแป้นต่างหู, ตรวจสภาพต่างหูห่วงว่าเข็มสบพอดีกับตัวล็อคบริเวณห่วงด้านหลัง เพื่อป้องกันการใส่ต่างหูแล้วหลุดหล่นหาย และ หากเครื่องประดับประกอบด้วยอัญมณีขนาดใหญ่ ผู้สวมใส่ควรตรวจเช็คหนายเตยที่ยึดเกาะอัญมณีนั้นๆว่าไม่สึกเกินกว่าที่อัญมณีนั้นๆจะอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง หากผู้สวมใส่พบว่าอัญมณีเริ่มสั่นคลอน ควรนำส่งร้านเครื่องประดับให้ช่างผู้เชี่ยวชาญซ่อมแก้ไข  อีกทั้ง ผู้สวมใส่ควรใช้ผ้าเช็ดเครื่องประดับที่สะอาดเช็ดเครื่องประดับขณะสวมใส่เครื่องประดับทุกครั้ง โดยเน้นบริเวณอัญมณี เพื่อให้อัญมณีทุกเม็ดคงความแวววาว

     • หลีกเลี่ยงการสวมใส่เครื่องประดับเมื่อต้องเผชิญกับสารเคมีอันตราย และ กิจกรรมสุ่มเสี่ยง เช่น กีฬากลางแจ้ง, หากใส่ประกอบอาหารในครัว ควรระวังคราบน้ำมันและผงเครื่องปรุง, หากใส่ขณะแต่งหน้า ควรระวังฝุ่นผงเครื่องสำอางและเศษขนแปรงแต่งหน้า รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ใส่ผมต่างๆ 

     • ไม่ควรทิ้งคราบมัน-สกปรกและเศษตกค้างไว้นาน โดยทำความสะอาดเครื่องประดับด้วยตัวเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง ด้วยวิธีง่ายๆดังนี้

  • เตรียมภาชนะสะอาด เช่น ถ้วยหรือชาม สำหรับทำความสะอาดเครื่องประดับ เติมน้ำอุ่นสะอาดในภาชนะ
  • ละลายน้ำสบู่ หรือ น้ำยาล้างจาน เข้ากับน้ำที่เตรียมไว้ ให้เจือจางกำลังดี
  • แช่เครื่องประดับในภาชนะประมาณ 20-30 นาที
  • นำเครื่องประดับขึ้นมา แล้วใช้แปรงสีฟันขนอ่อนนุ่มค่อยๆปัดแปรงและเคาะเบาๆ เน้นบริเวณซอกมุมต่างๆ โดยแหย่ขนแปรงเข้าไปในบริเวณที่ผ้าเช็ดทำความสะอาดไม่ถึง
  • เมื่อมั่นใจว่าเครื่องประดับสะอาดดีแล้ว ล้างด้วยน้ำเปล่าสะอาดอีกครั้ง และ เช็ดเครื่องประดับด้วยผ้าสะอาดอ่อนนุ่ม แล้วปล่อยให้แห้งไปเอง

     • ในกรณีที่ผู้สวมใส่ไม่สะดวกทำความสะอาดด้วยตนเอง สามารถนำส่งเครื่องประดับให้ร้านเครื่องประดับที่ไว้ใจได้ และ น่าเชื่อถือ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญทำความสะอาดให้

Post a Comment